messager
check_circle ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย
ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม



การนับถือศาสนา
ตำบลหนองสูงใต้ นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 100 มีวัด/สำนักสงฆ์ จำนวน 16 แห่ง
ประเพณีและงานประจำปี
ความเชื่อเรื่องบุญเรื่องกรรม การสร้างสมบุญบารมีในกิจการทางศาสนาพุทธนั้น เป็นสิ่งที่ชาวตำบลหนองสูงใต้ ให้ความสำคัญงานบุญงานกุศลใดก็ตามจะได้รับความร่วมมือจากทุกคนเป็นอย่างดี ด้วยความเชื่อว่าหากสร้างสมบุญได้มากก็จะทำให้สบายใจและมั่นใจได้ว่าภพชาติหน้าตนจะมีความสุขยิ่งๆขึ้นไป โดยส่วนใหญ่แล้วประเพณีหรือพิธีกรรมของชาวตำบลหนองสูงใต้ จะเป็นประเพณีเกี่ยวกับการประกอบอาชีพทางการเกษตรและศาสนา ที่เด่นชัดที่สุด คือ ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการทำนา โดยถือปฏิบัติตามประเพณีหรือขนบธรรมเนียมโบราณ เรียกว่า “ฮีต 12" มีดังนี้ เดือนหนึ่ง (เดือนอ้าย) - บุญเข้ากรรม งานบุญเดือนอ้าย พระสงฆ์จะทำพิธีเข้ากรรมหรือที่เรียกว่า เข้าปริวาสกรรม เพื่อชำระมลทินที่ได้ล่วงละเมิดพระวินัย การอยู่กรรมนั้นจะใช้เวลา 6 -9 วัน ในระหว่างนี้ชาวบ้านจะเตรียมอาหารหวานคาวไปถวายพระภิกษุทั้งเช้าและเพล ชาวบ้านที่นำอาหารไปถวายพระภิกษุในระหว่างอยู่กรรมนี้เชื่อว่าจะทำให้ได้บุญกุศลมาก ในตำบลหนองสูงใต้ จะมีงานปริวาสกรรมปฏิบัติธรรมกรรมฐานที่วัดภูอ่างเงิน บ้านเหล่าน้อย หมู่ที่ 4 ทุกปี โดยมีประชาชนในบ้านเหล่าน้อย หมู่ที่ 4 และหมู่บ้านใกล้เคียงมาร่วมงาน เดือนสอง (เดือน) - บุญคูณลาน / บุญคูนข้าว / บุญกุ้มข้าว บุญคูนลานหรือบุญคูนข้าวหรือบุญกุ้มข้าว เป็นพิธีกรรมฉลองหลังจากเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยว จึงต้องการทำบุญโดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ในลานข้าวเพื่อฉลองความอุดมสมบูรณ์ กล่าวขอบคุณแม่โพสพและขอโทษที่ได้เหยียบย่ำพื้นแผ่นดินในระหว่างการทํานา เพื่อความเป็นสิริมงคลและให้ผลผลิตดีในปีต่อไปด้วย นอกจากนั้น ชาวตำบลหนองสูงใต้ยังได้มีการจัดงานประเพณีวันค้ำคูณผู้ไทย ไหว้เจดีย์หลวงปู่หล้า ผ้าทอมือเมืองหนองสูงขึ้น ทุก ๆ ปี (วันที่ 18-19 มกราคม ของทุกปี) เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระธรรม คำสอนและคุณงามความดีที่หลวงปู่หล้าได้เมตตาต่อพุทธศาสนิกชน หลังจากที่หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ได้มรณภาพเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2539 ศิษยานุศิษย์จึงได้ร่วมกันสร้างเขมปัตตเจดีย์ขึ้นเพื่อให้ลูกหลานได้รำลึกถึงหลวงปู่หล้าและได้นัดหมายกันมาไหว้เจดีย์หลวงปู่หล้าในวันครบรอบมรณภาพ ทุก ๆ ปี จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2550 องค์การบริหารส่วนตำบลหนองสูงใต้ และส่วนราชการระดับอำเภอ ได้มาร่วมจัดงานและใช้ชื่อ “งานประเพณีวันค้ำคูณไทย ไหว้เจดีย์หลวงปู่หล้า ผ้าทอมือเมืองหนองสูง ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน เดือนสาม - บุญข้าวจี่ ชาวบ้านจะข้าวหรือปิ้งข้าวเหนียวปั้นชุบไข่มาจากบ้านโดยไม่จำกัดปริมาณ ตามความสะดวกแล้วนํามาสมทบกันที่วัดเพื่อใส่บาตรข้าวและใส่บาตรข้าวเหนียวร่วมกัน นำดอกไม้มาถวายพระ ซึ่งมักเป็นดอกไม้ที่มีอยู่ในบริเวณบ้าน โดยการตักบาตรนั้นจะทำตั้งแต่เวลาประมาณ 7 นาฬิกา หลังจากนั้นจะให้มีการเทศน์หรือหากมีประกาศสำคัญใดๆ ก็จะถือเป็นโอกาสดีในการได้กล่าวต่อชาวบ้าน เพราะจะมากันคับคั่งเต็มศาลาวัด เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็มีการแจกจ่ายข้าวนั้นให้แก่ผู้มาร่วมงานทุกคน เดือนสี่ - บุญผะเหวด ตามคติความเชื่อของชาวอีสานที่ว่าหากผู้ใดได้ฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดร ทั้ง 13 กัณฑ์จบภายในวันเดียว จะได้เกิดร่วมชาติภพกับพระศรีอริยเมตไตย บุญผะเหวดนี้จะทำติดต่อกันสามวัน โดย วันแรก เป็นวันจัดเตรียมสถานที่ ตกแต่งศาลาการเปรียญ วันที่สอง เป็นวันโฮม เป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองพระเวสสันดร ชาวบ้านรวมทั้งพระภิกษุสงฆ์จากหมู่บ้านใกล้เคียงจะมาร่วมพิธี มีการจัดขบวนแห่เครื่องไทยทาน ฟังเทศน์และแห่พระเวส สมมติเป็นการแห่พระเวสสันดรเข้าสู่เมือง เมื่อถึงเวลาค่ำจะมีเทศน์ที่แสดงที่มาของประเพณี บุญผะเหวด วันที่สาม เป็นงานบุญพิธี มีการเทศน์พระเวสสันดรชาดก ชาวบ้านจะร่วมกันตักบาตร พิธีจะมีไปจนค่ำ ชาวบ้านจะแห่แหน ฟ้อนรำตั้งขบวนเรียงราย น่ากัณฑ์เทศน์ กัณฑ์จอบ กัณฑ์หลอน มาถวายพระพระสงฆ์จะเทศน์เรื่องเวสสันดรชาดกจนจบ และเทศน์อานิสงส์อีกกัณฑ์หนึ่ง จึงเสร็จพิธี เดือนห้า - บุญสงกรานต์ / บุญสรงน้ำ / บุญฮดสรง จะจัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย พระสงฆ์จะนำพระพุทธรูปออกจากโบสถ์มาไว้บริเวณที่เหมาะสม เช่น หน้าโบสถ์ และจัดหาขันเงินหรือขันโลหะใบใหญ่ใส่น้ำ ดอกไม้ น้ำอบน้ำปรุง และขันเงินใบเล็กๆ เตรียมไว้ให้ญาติโยมมาตั้งน้ำสรงพระพุทธรูปนั้น หรือชาวบ้านอาจจะเตรียมน้ำอบน้ำปรุงมาเองด้วยก็ได้ จากนั้นก็ร่วมกันสรงน้ำพระพุทธรูป หรือสรงน้ำตามโอกาสสะดวกในช่วงกลางวัน ระหว่างนี้ชาวบ้านอาจจะพากันเล่นดนตรีเพื่อความสนุกสนาน ลูกหลานจะทำการไปเยี่ยมและรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่จากนั้นจึงเล่นสาดน้ำกัน โดยมากในวันสงกรานต์นี้จะมีการทำบุญใส่บาตรในตอนเช้าด้วยเพื่อเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นปีใหม่ ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประสบแต่ความสุขความเจริญ ความก้าวหน้า พ้นจากทุกข์ภัยทั้งหลาย หากผู้ใดที่ประสบความทุกข์ยากประการใดอยู่ก็จะขอพรให้หลุดพ้นจากความทุกข์นั้นและมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้น นอกจากนี้ ชาวบ้านแวง หมู่ที่ 3,6,8 ยังมีประเพณีแห่พระพุทธศิลาลักษณ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวบ้านแวง ตำบลหนองสูงใต้ หน้าตักกว้าง 12 นิ้ว สูง 22 นิ้ว ประดิษฐาน ณ วัดโสมนัสสถาน บ้านแวง ซึ่งได้ถูกค้นพบประมาณ พ.ศ.2460 และชาวบ้านแวงได้กําหนดให้มีการแห่พระพุทธศิลาลักษณ์ขึ้นในห้วงเทศกาลสงกรานต์ ของทุกปี เดือนหก - บุญบั้งไฟ ในห้วงเดือนหกประชาชนจะมีการเสี่ยงทาย งไฟเพื่อทราบสภาวะน้ำเพื่อการเกษตรประจําปี เป็นการบูชาขอให้พญาแถบบันดาลฝนให้ตกลงมา และเพื่อเตรียมตัวในการทําเกษตรให้สอดคล้องกับผลการเสี่ยงทาย สำหรับในเขตตำบลหนองสูงใต้ ไม่มีพยานหลักฐานใด ปรากฏว่าเคยมีบุญบั้งไฟ ประชาชนส่วนใหญ่จะไปร่วมงานบุญบั้งไฟ ตำบลใกล้เคียงจัดขึ้น เช่น ตำบลบ้านเป้า เดือนเจ็ด - บุญชาฮะ (ชำระ) บุญซำฮะหรือชำระ เกิดตามความเชื่อที่ว่าเมื่อถึงเดือนเจ็ดต้องทำบุญชำระจิตใจให้สะอาดและเพื่อปัดเป่ารังควาญสิ่งไม่เป็นมงคลออกจากหมู่บ้าน ในวันงานชาวบ้านจะน่าภัตตาหารมาถวายแด่พระภิกษุสงฆ์และร่วมกันฟังเทศน์ และมีการเซ่นไหว้ศาลหลักบ้าน เพื่อขอความคุ้มครองให้พ้นจากภัยพิบัติและช่วยขับไล่สิ่งอัปมงคลออกไปจากหมู่บ้าน ให้บ้านเกิดความเป็นสิริมงคลและร่มเย็นเป็นสุขดี สำหรับในปัจจุบันหมู่บ้านต่างๆในตำบลหนองสูงใต้ ประเพณีนี้ไม่ค่อยมีให้พบเห็น เดือนแปด - บุญเข้าพรรษา วันเข้าพรรษาเป็นพิธีกรรมของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาที่ต้องจําพรรษาที่วัด ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมทําคุณงามความดีเพื่อช่วยเหลือพระสงฆ์อีกทางหนึ่งด้วย วันเข้าพรรษาจะเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่า ครบไตรมาส คือ 3 เดือน เป็นการเข้าพรรษาต้น ส่วนการเข้าพรรษาหลังเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 เดือน 9 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ขนมที่นิยม เพื่อนำมาใส่บาตร ได้แก่ ขนมเทียน และข้าวต้มมัด พร้อมด้วยสิ่งของที่ที่นิยมเตรียมมาใส่บาตรด้วยส่วนใหญ่ คือ ข้าวของเครื่องใช้ที่ผู้ทำบุญพิจารณาว่าจําเป็นสําหรับการจําพรรษา เช่น สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน รองเท้า ไฟฉาย ยาสามัญประจําบ้าน ผ้าไตรจีวร ผ้าอาบน้ำฝน ผ้าขนหนู ขันน้ำ ธูป 1 ห่อ และเทียนพรรษา 1 คู่ เป็นต้น สำหรับเทียนทำบุญวันเข้าพรรษานั้นถวายเพื่อจุดบูชาพระตลอด 3 เดือน เมื่อแห่เทียนมาถึงวัด ชาวบ้านจะรับศีลรับพรจากพระสงฆ์และฟังธรรม ตอนจะเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ มีความเชื่อว่าการทำบุญในช่วงเข้าพรรษานั้นส่งผลบุญมาก ได้ผลเร็ว เพราะพระสามารถใช้สิ่งของทีถวายได้เลยและหากมิได้มีความเร่งรีบมากแล้วชาวบ้านก็มักจะทําการเตรียมข้าวของที่จะถวายพระเองหรืออาจมีการซื้อของที่จัดไว้จำหน่ายสำเร็จรูปแล้วมาเสริมด้วยเช่นกัน ในปี พ.ศ. 2558 องค์การบริหารส่วนตำบลหนองสูงใต้ร่วมกับชาวตำบลหนองสูงใต้ ได้เริ่มจัดขบวนแห่เทียนพรรษาขึ้นและทำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เดือนเก้า - บุญข้าวประดับดิน บุญข้าวประดับดิน คือ บุญที่ทำในวันแรมสิบสีค่ำ เดือนเก้า (ประมาณเดือนสิงหาคม) เป็นการนําข้าวปลาอาหารคาวหวาน ผลไม้ หมาก พลู บุหรี่ อย่างละเล็กอย่างละน้อย แล้วห่อด้วยใบตองทําเป็นห่อเล็กๆ นำไปวางตามโคนต้นไม้ใหญ่ พื้นดิน พุ่มไม้ บนรั้วกำแพงวัด รอบๆ เจดีย์หรือโบสถ์ เรียกว่า การยายห่อข้าวน้อย (ยาย เป็นคำกริยา แปลว่า วางกระจายเป็นระยะๆ) เป็นการทำบุญที่ชาวบ้านจัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว เนื่องจากมีความเชื่อถือสืบต่อกันมาแต่โบราณกาลแล้วว่า กลางคืนของเดือนเก้าดับ (วันแรม 14 ค่ำ เดือน 9) เป็นวันที่ประตูนรกเปิด ผีออกมาเยี่ยมญาติในโลกมนุษย์ได้ในคืนนี้คืนเดียวเท่านั้นในรอบปี ถือว่าเป็นงานบุญที่ญาติพี่น้องจะได้พบปะเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ด้วยการตระเตรียมและประกอบอาหารคาวหวานเพื่ออุทิศให้กับบิดามารดาหรือญาติพี่น้องที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยอาหารคาวหวานดังกล่าวจะห่อใส่ใบตองความกว้างขนาดเท่าฝ่ามือ ส่วนความยาวนั้นให้ยาวสุดซีกของใบตอง โดยอาหารคาวมักเป็นข้าวเหนียวไก่ ปลา แจ๋ว หรืออื่นๆ ที่เห็นว่าผู้ล่วงลับจะชอบ ส่วนอาหารหวานมักเป็นข้าวต้มมัดหรือข้าวต้มคลุกน้ำตาลและมะพร้าว หรือข้าวต้มข้าวโพด แล้วแต่ความชอบ อาจจะมีผลไม้ เช่น กล้วย มะละกอ เป็นต้น และหมากหนึ่งคําบุหรี่หนึ่งมวน เมี่ยงหนึ่ง หลังจากนั้นนำใบตองมาห่อเข้ากันแล้วใช้ไม้กลัดหัวท้ายและตรงกลางก็จะได้ห่อข้าวน้อยที่มีลักษณะยาวๆ ส่วนหมากพลนั้น ใช้หมากหนึ่งคำ บุหรี่หนึ่งมวน เมี่ยงหนึ่งคำ สีเสียด แก่นคูน นำมาห่อใบตองเข้าด้วยกันแล้วไม้กลัดหัวท้าย ก็จะได้ห่อหมาก พลู หลังจากนั้นนำทั้ง 2 ต่อมาผูกกันเป็นคู่ แล้วนำไปมัดรวมเป็นพวง 1 พวง จะใส่ห่อหมากและห่อพลูจํานวน 9 ห่อ ต่อ 1 พวง เมื่อวางข้าวน้อยตามบริเวณต่างๆ ที่เหมาะสมภายในวัดแล้ว ลูกหลานก็จะร้องเรียกวิญญาณผู้ล่วงลับที่ตนทำบุญให้พอฟังได้ยิน จากนั้นพระสงฆ์จะแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับเรื่องอานิสงส์ของบุญข้าวประดับดินให้ฟัง ต่อจากนั้นชาวบ้านจะนำปัจจัยไทยทานถวายแด่พระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ให้พรเสร็จชาวบ้านที่มาทำบุญก็จะกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้วทุกๆ คน จากนั้นเมื่อกะประมาณว่าวิญญาณผู้ล่วงลับได้มารับประทานอาหารที่วางไว้ให้แล้ว ผู้ทำบุญก็เก็บข้าวน้อยนั้นกลับบ้าน อาจจะนำไปวางไว้ที่นาหรือบ้านในบริเวณที่เหมาะสมก็ได้ เดือนสิบ - บุญข้าวสาก บุญข้าวสากเป็นประเพณีในวันขึ้น 15 ค่ำ ซึ่งชาวบ้านจะจัดเตรียมสํารับอาหาร ซึ่งบรรจุข้าวเหนียว อาหารแห้ง เช่น ปลาย่าง เนื้อย่าง แจ่วหรือน้ำพริกปลาร้า และห่อข้าวเล็กๆ อีกห่อหนึ่งสำหรับอุทิศให้ญาติผู้ล่วงลับและนำไปทำบุญที่วัด โดยจะเขียนชื่อเจ้าของสํารับอาหารและเครื่องไทยทานใส่ไว้ในบาตรเพื่อให้พระในวัดจับสลาก หากภิกษุรูปใดจับสลากได้ชื่อผู้ใดก็จะได้รับอาหาร พร้อมเครื่องไทยทานของเจ้าภาพนั้นๆ เดือนสิบเอ็ด-บุญออกพรรษา บุญออกพรรษาในเดือนสิบเอ็ด เป็นโอกาสที่พระภิกษุสงฆ์จะแสดงอาบัติและว่ากล่าวตักเดือนกัน ชาวบ้านจะจัดประเพณีตักบาตรเทโว นางพื้นที่จะมีประเพณีการกวนข้าวทิพย์ (ข้าวมธุปายาส) ซึ่งเป็นประเพณีที่สร้างความสามัคคีในหมู่บ้าน โดยชาวบ้านจะร่วมกันนําเอาวัสดุข้าวของต่าง ๆ มาร่วมทำบุญได้แก่ น้ำนมโคสด (ปัจจุบันใช้นมข้นหวานแทน) น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ชะเอมเทศ นาดาลกรวด น้ำตาลหม้อ ข้าวตอกข้าวเม่า ธัญพืชต่างๆ ผลไม้สด ผลไม้แห้ง เป็นต้น ทั้งนี้แล้วแต่ความเหมาะสมเท่าที่จะหาได้หรือปรับปรุงให้มีรสชาติ หอมหวาน อร่อย ตามความต้องการของผู้กวนในแต่ละหมู่บ้าน เมื่อเสร็จและถวายเป็นพุทธบูชาแบ่งปันกันไปรับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคล ข้าวทิพย์มธุปายาสนี้เชื่อกันว่า เมื่อทำครบถ้วนตามพิธีแล้ว จะเป็นสิริมงคลแด่ผู้ทำและผู้บริโภค สมควรจะเซ่นสรวงเทพารักษ์ ผู้ที่ได้บริโภคข้าวทิพย์แล้ว จะประสบโชคลาภต่างๆ นานา ปราศจากโรคาพยาธิ ภัยพิบัติ ประสบสิ่งที่เป็นมงคล พิธีกวนข้าวทิพย์ได้ยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในหมู่ของชาวพุทธทั่วไป เพื่อระลึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหตุการณ์ที่นางสุชาดาได้กวนข้าวทิพย์ในวันขึ้น 14 ค่ำแล้วนำไปถวายพระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ 1 วัน โดยถือว่ามีผลานิสงส์มาก ด้วยเหตุนี้ชาวพุทธจึงพร้อมใจกันกวนข้าวทิพย์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เทิดทูนพระเกียรติคุณด้วยความกตัญญูกตเวทิตาธรรม ซึ่งในตำบลหนองสูงใต้ยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าเคยมีการกวนข้าวทิพย์ มีแต่การไปร่วมทำบุญที่วัดในเช้าวันออกพรรษา เดือนสิบสอง - บุญกฐิน บุญกฐินนี้มีกำหนดให้ทำได้เฉพาะในช่วงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึง 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปีเป็นงานบุญใหญ่ที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศบุญกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ โดยเชื่อว่าผู้ใดได้ทําบุญกฐินจะไม่ตกนรกและจะได้รับผลบุญที่ทำในชาตินี้ไว้เก็บกินในชาติหน้า ช่วงใกล้เคียงกันจะมีการจัดประเพณีลอยกระทง โดยงานประเพณีลอยกระทงของตำบลหนองสูงใต้จะจัดขึ้นที่บริเวณหนองแวง หมู่ที่ 3 และช่วงปลายเดือนธันวาคม จะมีการจัดงานแข่งขันกีฬาพ่อบ้านแม่บ้านต้านยาเสพติด ซึ่งได้รับความร่วมมือจากแต่ละหมู่บ้านในการจัดขบวนพาเหรด ขบวนนักกีฬา อย่างสวยงามตระการตาทุก ๆ ปี